|
หมวดหมู่ > เครื่องเสียงรถยนต์ > บทความเครื่องเสียงรถยนต์ >
ลำโพงคู่นี้ประวัติศาสตร์สะเทือน (อะไรจะเกิดขึ้น เมื่อลำโพง FULL RANGE เต็ม 100)
วันที่ : 26/01/2016
ลำโพงคู่นี้ประวัติศาสตร์สะเทือน (อะไรจะเกิดขึ้น... เมื่อลำโพง FULL RANGE เต็ม 100) โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ ไม่ต่ำกว่า 70 ปีที่วงการลำโพงมีการพัฒนามาโดยลำดับ เริ่มจากลำโพงแบบตัวเดียว (ดอกเดียว) ให้ความถี่เสียงครอบคลุมจากความถี่ต่ำสุดถึงสูงสุด หรือเรียกว่า Full Range แต่จริงๆ แล้วในยุคแรกๆ เมื่อ 70 ปีมาแล้ว มันยังให้ความถี่เป็นช่วงแคบ ความถี่ต่ำโดยปกติน่าจะลงได้แค่ 200-300 Hz ความถี่สูง...น่าจะไปได้สูงสุดแค่ 10kHz - 12kHz ถ้าอยากได้ความถี่ต่ำลงลึกกว่านี้ ก็ออกแบบตู้ลำโพงให้มีขนาดใหญ่ ภายในกั้นผนังเป็นช่องปากแตร วกไปวนมาให้ช่องบานออกจนพ่นลม (จากหลังดอกลำโพง) ไปออกช่องเจาะหน้าตู้ หรือหลังตู้ หรือใต้ตู้ เป็นระบบทางวกวน (Transmission Line) ทำให้ต้องใช้ขนาดตู้สูงตั้งแต่ระดับเอวขึ้นไปถึงระดับราวนมก็มี ขนาดกว้างตั้งแต่ 2 ศอกถึงเกือบ 1 วา ลึกไม่ต่ำกว่า 2 ศอก พูดง่ายๆ ปริมาตรพอๆ กับตู้เย็น 20 คิว จะขนย้ายกันทีหน้ามืด ราคาตู้แพงกว่าราคาดอกลำโพงมาก เกะกะอย่างยิ่ง กรณีตู้ใหญ่แบบนี้ ความถี่ต่ำก็อาจลงได้ถึงระดับ 80-100Hz สาเหตุที่ดอกลำโพงพวกนี้ (Full Range) ลงเบสได้ไม่ลึก เนื่องจากต้องทำดอกให้มีความไวสูงมาก ระดับ 100dB SPL/W/m ขึ้นไป บางดอกไวถึง 105-107 dB SPL/W/m เนื่องจากในสมัยนั้น เครื่องขยายเสียง (ที่ใช้หลอดสุญญากาศ (Tube) ยังมีกำลังขับต่ำมาก เช่นแค่ 3 W.RMS/ข้าง (ใครมีกำลังขับสัก 15 W.RMS/ข้าง ถือว่าหรูเสียไม่มี) การออกแบบดอกลำโพงให้กินวัตต์ต่ำ (มีความไวสูง) การตอบสนองที่ความถี่ต่ำจะแย่ลง มันจึงลงไปได้แค่ 200-300Hz (ที่ -3dB) ขณะเดียวกัน การที่ภาคขยายเสียงแบบหลอดซึ่งต้องใช้หม้อแปลงขาออก เพื่อสมดุลย์ความต้านทานขาออกของวงจรหลอดกับความต้านทานของดอกลำโพง ทำให้ความสามารถของภาคขยายขาออกในการหยุดการสั่นค้างดอกลำโพง... ลดลงอย่างมาก ไม่สูงเท่าที่ควร ได้แค่ 10-18 (ค่า DF) ซึ่งถ้าจะให้ดีต้อง 100 ขึ้นไป (ที่ 20Hz) ทางแก้คือ ดอกลำโพงสมัยนั้นจึงมักมีความต้านทานสูง เช่น 16 - 32 โอห์ม ผลคือ ทุ้มยิ่งห้วน, แข็ง, กระด้างขึ้นไปอีก ขณะที่แหลมยิ่งตกลง อาจจะเหลือแค่ 8 kHz ต้องออกแบบวงจรยกแหลมชดเชยไว้ให้ (แต่ก็จะได้ แหลมแบบไม่เปิดโปร่ง, ไม่พริ้ว, ไม่เป็นประกายระยิบระยับ คือ ไม่มีการแตกตัวของอนูอากาศ หรือไม่ Airy) ต่อมาจึงมีการทำดอกลำโพงเสียงแหลมเติมเข้าไป โดยทำวงจรแบ่งเสียงแบบ Passive (Passive Crossover Network หรือ PCN) มาต่อคั่นระหว่างเครื่องขยายเสียง กับดอกลำโพง FULL RANGE เดิม และดอกแหลม โดยดอกแหลมจะมาช่วยต่อยอดปลายแหลมให้ เสียงก็สดใสกรุ๊งกริ๊งขึ้นได้ (ดอกแหลมยุคแรก ต้องมีปากแตร ทั้งแบบกลมหรือแบบเหลี่ยมอยู่ด้านหน้า เพื่อช่วยเพิ่มความไวให้ตามดอก Full Range ได้) เมื่อภาคขยายเสียงได้รับการพัฒนาขึ้น เครื่องหลอดสามารถให้กำลังขับได้ 50 W.RMS/ข้าง จนถึงร่วมร้อยวัตต์ต่อข้าง ทำให้สามารถลดความไวของตัวดอก Full Range ลงเหลือ 88-89dB SPL/W/m ได้ และทำให้การตอบสนองที่ความถี่ต่ำทำได้ดีขึ้นมาก ลงได้ถึง 50Hz (-3dB) แถมลดขนาดตู้ลงได้เหลือแค่หน้ากว้าง 1 ศอก, ลึก 2 คืบ, สูงศอกครึ่ง ระบบตู้ปิด (Acoustic Suspension) โดยทั้งระบบลำโพงมีความไวลดลงอยู่ที่ 86dB SPL/W/m เสริมกับการพัฒนาภาคขยายแบบไร้หลอด หรือแบบ Solid Stage ใช้ตัวทรานซิสเตอร์ ทำให้สามารถออกแบบและผลิตภาคขยายกำลังขับสูง ตั้งแต่ 75 W.RMS/ข้าง - 200 W.RMS/ข้าง ที่ 8 โอห์มได้ ในราคาที่ไม่แพงลิบเหมือนยุคเครื่องหลอดแรกๆ (ที่มีแต่เศรษฐีรวยจริงเท่านั้นที่มีปัญญาเล่น ยิ่งยุคแรกสุดที่ต้องใช้ไฟจากแบตเตอรี่ หรือถ่านไฟฉาย ต้องคอยเปลี่ยนถ่านเป็นลังๆ !) ตั้งแต่นั้นมา ระบบลำโพงแบบ Full Range ก็แทบสูญพันธุ์ไป 99% ของผู้ผลิตลำโพงทั่วโลก ทั้งลำโพงบ้านและลำโพงรถยนต์ (ประเภทซื้อเปลี่ยนจากลำโพงที่มากับรถในภายหลัง ที่เรียกว่า ตลาด After Market) จะเป็นลำโพง 2 ทาง (2-way) เป็นอย่างน้อย คือ มีดอกลำโพงเสียงกลาง/ทุ้ม 1 ดอก (ตั้งแต่ขนาด 4 นิ้วถึง 8 นิ้ว แต่โดยปกติจะอยู่ที่ 6 นิ้ว) ดอกลำโพงเสียงแหลม 1 ดอก และแน่นอน ต้องมีวงจรแบ่งความถี่เสียงแยกไปเข้าดอกกลาง/ทุ้ม และแยกไปเข้าดอกแหลม วงจรนี้มีตั้งแต่ใช้ตัวเก็บประจุเพียง 1 ตัว, อาจเพิ่มขดลวด (coil) อีก 1 ตัว เป็นวงจรตัดเสียงสูงไปออกดอกแหลม ส่วนดอกกลาง/ทุ้มก็อาจออกเป็น Full Range โดยสรีระของดอกกลาง/ทุ้ม (5-6 นิ้ว) จะตอบสนองเสียงได้แค่ 50Hz - 5000Hz หรืออย่างเก่งก็ไปได้ 50Hz - 10,000Hz โดยเสียงกลางสูงต้องไม่อู้ก้อง, ขึ้นจมูกด้วย มีเหมือนกันที่ระบบลำโพงจะเป็น 3 ทาง คือ วงจรแบ่งเสียงแยก 3 ช่วงความถี่เสียงเข้าดอกเสียงทุ้ม (8-10 นิ้ว แต่ถ้าเป็นอดีตเมื่อ 30 ปีที่แล้ว อาจใช้ถึง 12 นิ้ว), เข้าดอกเสียงกลาง (4-5 นิ้ว), เข้าดอกเสียงแหลม (1/2 - 2 นิ้ว) ลำโพงบ้านพอมีให้เห็นแบบ 3 ทาง หรือ 2 ทางครึ่ง (ดอกทุ้มจะเท่ากับดอกกลาง โดยดอกกลางจะเป็นกลาง/ทุ้ม และความถี่ต่ำๆ เช่น 300Hz ลงมา ดอกกลาง/ทุ้มอีกดอกจึงจะขยับช่วยเสริม) สำหรับลำโพงรถยนต์ 90% จะเป็นลำโพง 2 ทางทั้งสิ้น โดยดอกกลาง/ทุ้มมีขนาด 4-8 นิ้ว สาเหตุที่ลำโพงเกือบทั้งหมด ทั้งลำโพงบ้านและลำโพงรถต่างเลือกที่จะทำแค่ 2 ทาง เนื่องจาก เทคโนโลยีทางวัสดุและการวิจัยด้วยลำแสงเลเซอร์และการตรวจวัดด้วยคอมพิวเตอร์ รวมทั้งขบวนการผลิต ได้พัฒนาขึ้นมากตลอด 30 ปีหลังนี้ ทำให้สามารถออกแบบและผลิตดอกลำโพงกลางทุ้มที่ดีขึ้นๆ โดยเสียงทุ้มลงได้ลึกและกระชับขึ้น เสียงสูงไปได้สูงขึ้นจนเฉลี่ยไปได้ถึง 6kHz บางดอกไปถึง 10kHz ขณะที่รับกำลังขับได้สูงขึ้น แต่กลับกินวัตต์ไม่มากไปกว่าปกติ อีกทั้งเก็บตัวได้ฉับไว ด้วยเหตุนี้ จึงแทบไม่มีความจำเป็นนักในการทำลำโพงแบบ 3 ทาง อีกทั้งในเชิงการค้า ลำโพง 2 ทาง เป็นผลิตภัณฑ์ที่คุ้มทุนกว่า 3 ทางมาก ออกแบบก็ง่ายกว่ามาก ต้นทุนถูกกว่ามาก คุณภาพก็ใกล้เคียงกับแบบ 3 ทาง (นอกจากนักฟังระดับเซียนจึงจะฟังออกว่า ยังไงๆ ลำโพง 3 ทางที่ดีๆ ก็ยังได้เปรียบ 2 ทางที่ดีๆ) สรุป คือ ปัจจุบันลำโพง 2 ทางครองโลก อย่างไรก็ตาม จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเราสามารถทำดอกลำโพงดอกเดียวให้เสียงได้ครบทุกช่วงความถี่ตั้งแต่ 30Hz - 18000Hz คือ แทบจะเป็น Full Range เต็มร้อยแล้ว ปกติในการฟังดนตรี ถ้าลำโพงไปได้แค่ 5kHz เสียงสูงจะหายไป เสียง “ส” จะเป็น “ถ” ถ้าลำโพงไปได้ถึง 10kHz เสียงสูงจะมี ฟังได้เสียง “ส” จะเป็น “ส” แต่จะห้วนสั้นไม่มีความโปร่ง (ไม่ Transparent) เสียงไม่สดใสระยิบระยับ ไม่มีประกาย แต่ก็ดีกว่ากรณี 5kHz มาก ถ้าเสียงสูงไปได้ถึง 18kHz ปลายแหลมจะกรุ๊งกริ๊งสดใส พริ้วเป็นประกายระยิบระยับ ถือว่าโอเค เข้าขั้นไฮ-ไฟที่สมบูรณ์ (95%) ถ้าเสียงสูงไปได้มากกว่า 20 kHz เช่นถึง 32kHz หรือมากกว่านั้น จะได้ใกล้เคียงกับกรณี 18kHz แต่เสียงจะเปิดโปร่งทะลุ (Transparency) ไร้ม่านหมอกโดยสิ้นเชิง จะ “รู้สึก” ทุกๆ หัวโน้ต ไม่ว่าจะของเสียงต่ำ, กลาง, สูง จะชัดเจน มีรายละเอียด หัวโน้ตคมชัด (ชันขึ้น... มีข้อแม้ว่าปลายแหลมสุดต้องไม่สะบัด หรือ Ringing หลอกหู) รับรู้ได้ถึงการแตกตัวของอณูอากาศรอบๆ ตัวโน้ต (ทุกความถี่) เรียก Airy หรือลมหายใจของตัวโน้ต (Breathing) (กรณีความถี่สูงกว่า 20kHz ต้องใช้ดอกแหลมปลาย หรือเรียกว่า Super tweeter มาเสริมดอกแหลมเดิม แต่ดอกแหลมบางตัวก็ไปได้ถึง 32kHz ด้วยตัวของมันเอง จะคุยว่าเป็น Super Tweeter ต้องไปได้อย่างน้อย 32 kHz ขึ้นไป บางดอกไปได้ถึง 120kHz) เมื่อประมาณ 6-7 ปีที่แล้ว ผมเคยฟังดอกลำโพงกลาง/ทุ้มขนาด 6 นิ้วของ Bostwick (ลำโพงรถยนต์) โดยต่อตรงจากวิทยุ-CD ไฮเพาเวอร์ 50W x 4CH ไม่ใช้วงจรแบ่งเสียง หรือดอกแหลมใดๆ กดปุ่ม Loudness ที่วิทยุ ไม่แต่งเสียงทุ้ม, แหลม เพิ่มช่วยอีก ปรากฏว่า เสียงที่ได้น่าตื่นเต้นมาก ทุ้มโอเคเลย อิ่มลึกเป็นลูกใช้ได้ กลางหวาน จีบปากจีบคอ ผ่อนคลาย มีแหลมอย่างพอเพียง รับรู้ได้ ไม่อับทึบ ถือว่า เป็นลำโพง Full Range ที่ดีที่สุดที่เคยฟังคู่หนึ่ง (ในจำนวนน้อยคู่มากที่เคยฟังว่าจะทำได้) อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากับเพลงทั่วๆ ไปถือว่า สอบผ่าน แต่ถ้าเพลงที่มีเสียงปลายแหลมที่ชัดๆ จะพบว่า ปลายแหลมของดอก Full Range นี้จะห้วนไปหน่อย ขาดความใสกรุ๊งกริ๊งระยิบระยับ ทำให้กลางไม่เปิดโปร่งเท่าที่ควร (แต่ถ้าใครมีปรี EQ ช่วยแต่งบ้าง ก็น่าคิดทีเดียว แต่ก็ต้องเพิ่มเพาเวอร์แอมป์... ไม่นิยม EQ ดิจิตอลที่มากับวิทยุ ยกแล้วเสียงแบน ขาดเนื้อเสียง) จริงๆ ลำโพง Bostwick รุ่นนั้นน่าเล่นทีเดียว โดยฟังแบบ Full Range (+ Loudness+ ปรี EQ + แอมป์) คู่หนึ่งก็ไม่กี่พันบาท จนเมื่อล่าสุดเร็วๆ นี้ ผมได้ฟังดอกลำโพงของ Bostwick ขนาด 6 นิ้ว มีหัวจรวด (อลูมิเนียมตัน) อยู่กลางกรวย โดยฟังแบบต่อตรงกับวิทยุ-CD ของ JVC (50W x 4CH) ไม่มีวงจรแบ่ง, ไม่มีดอกแหลม กดปุ่ม Loudness (EQ ที่ Flat) ในตู้ลองแบบตู้ปิด ปริมาตรประมาณ 0.7-0.9 ลูกบาศก์เมตร ขนาดว่าฟังแค่ข้างเดียว เร่งวอลลุ่มที่วิทยุ 22-24 (ประมาณครึ่งเดียว) ยืนฟังห่างประมาณ 1 เมตร ฟังจาก SD การ์ดทีี่ผมบันทึกมา (ระดับเทพ ไม่ใช้คอมพ์) เสียงที่ได้เล่นเอาผมงงไปเลย เสียงครบมาก เทียบเท่ากับฟังจากลำโพง 2 ทาง 6 นิ้วกันเลย ความถี่ต่ำลงไปได้ 30Hz สบายๆ เบสอิ่มแน่นเปรี๊ยะ เป็นลูก มีพลัง กลางเปิดโปร่งทะลุ สด คมชัด ตื่นตัว แต่ผ่อนคลาย แหลมสดใส กรุ๊งกริ๊ง เป็นประกายระยิบระยับ มีพลัง (น่าจะไปได้ 18kHz สบายๆ อาจถึง 20kHz ด้วย) เสียงทั้งหมดนิ่ง, กระชับ, มีช่องไฟที่ดี ราบรื่น มี Dynamic มาก เสียงหลุดตู้เต็มที่ ขนาดฟังแค่ข้างเดียว ฟังมันส์, เพลินขนาดนี้ ถ้ามีครบ 2 ข้างจะขนาดไหน ผมยืนฟังเพลงทุกสไตล์ที่บันทึกมา (SD การ์ด MP3 320Kbps) ขณะที่ฟังก็คิดอยู่ในใจ นี่คือประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการลำโพงรถ (จริงๆ เอาไปใช้กับเครื่องเสียงบ้านก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด) ใครๆ ก็รู้ว่า วงจรแบ่งเสียงของลำโพง มีผลต่อเสียง, มิติเสียง อย่างมากมายมหาศาลแค่ไหน อีกทั้งเป็นส่วนที่ยุ่งยาก และมีราคาแพง (ถ้าจะให้ได้คุณภาพที่ดี) ลำโพงรถระดับซุปเปอร์ไฮเอนด์บางคู่ เฉพาะกล่องวงจรแบ่งเสียงก็ใหญ่เท่ากับวิทยุ-CD 3 เครื่องเรียงต่อกัน! (คู่นี้ราคาลดแล้วแสนกว่าบาท) นี่เป็นข้อเสียอย่างสำคัญของวงจรแบ่งเสียง ใหญ่ เกะกะ แพง ทำดียาก มีอิทธิพลต่อเสียงมาก ข้อสอง การใช้ดอกลำโพงแยกทำงานแต่ละช่วงความถี่ เป็นการยากมากที่จะให้การเชื่อมต่อของเสียงแต่ละช่วงจากแต่ละดอก ทับซ้อน, ราบรื่น ไร้รอยต่อ (Seamless) ไร้รอยหยัก นี่ยังไม่นับว่า บุคลิกเสียงแต่ละดอกจะต้องกลมกลืนเข้ากันได้ ไปในแนวเดียวกัน เพื่อให้การกระจายฮาร์โมนิกส์ (จาก Frequency Spectrum ของทุกดอกรวมกัน สอดรับ ทับซ้อนกันได้สนิทเป็น เนื้อเสียงเดียวกันมากที่สุด) ข้อสาม การมีวงจรแบ่งเสียงจะทำให้ เสียงแต่ละความถี่ (ช่วงความถี่) เกิดการหน่วง, ลักลั่นกัน มาถึงหูไม่พร้อมกัน (Phase Delay, Group Delay) สุ้มเสียงเพี้ยน ไม่ราบรื่น จังหวะจะโคนเสีย (Rhythmic แย่ลง) มิติเสียงเสีย (ทรวดทรง, ลำดับชั้น, ตำแหน่งในเวที), เวทีเสียงไม่ชัด หาขอบเขตไม่ได้ (Sound stage ไม่ชัดเจน) นอกจากนั้น ยังทำให้ ความฉับไวของเสียงเสีย (บั่นทอน Transient Response) รายละเอียดหัวโน้ตไม่ดี (มน, คลุมเครือ) ความสามารถของภาคขยายในการหยุดการสั่นค้างของดอกลำโพงเสีย (ค่า Damping Factor หรือ DF เสีย) ซึ่งปกติถ้าขับตรงด้วยวิทยุ CD ไฮเพาเวอร์ ภาคขยายขาออกของวิทยุเองก็มีค่า DF ไม่ดีนักอยู่แล้ว เมื่อต้องมาเจอกับวงจรแบ่งความถี่เสียงของลำโพง ค่า DF ยิ่งแย่หนักขึ้น ทุ้มจะบวม, ยานคราง ช่องไฟระหว่างตัวโน้ตไม่เกลี้ยงสะอาด เวทีเสียงมีม่านหมอก มิติเสียงไม่คมชัด ตำแหน่งชิ้นดนตรีไม่นิ่ง (เกิดอาการวอกแวก) ถ้าถาคขยายมีค่า DF ดีขึ้น (จากการไม่มีวงจรแบ่งเสียง) จะทำให้ควบคุมการขยับของกรวยลำโพงได้แม่นยำ จับวาง กระชับ อยู่มือขึ้น ลำโพงจะทนขึ้น ถ้าถูกอัดหนัก (ยกทั้ง Loudness, ทุ้ม, โหลดรถเตี้ย) การใช้ดอกลำโพงตัวเดียวต่อข้าง จึงไม่มีดอกอื่นในข้างเดียวกันที่จะตีกระแสย้อนกลับ (Back EMF) มาป่วนกันเองไปมาระหว่างดอกลำโพงหลายดอกในซีกเดียวกัน (โดยผ่านทางวงจรแบ่งเสียง) อีกทั้งตัดปัญหาไมโครโฟนิกส์ (Michrophonics) ที่ดอกลำโพงที่ชิดกันแต่ละดอก ทำตัวเป็นไมโครโฟนรับเสียงจากอีกดอก ย้อนกลับเข้ามาป่วนระบบลำโพงเดียวกัน ทำให้เสียงสับสน เป็นเงา ความเงียบสงัดลดลง ฯลฯ การไม่มีวงจรแบ่งความถี่เสียง ช่วยลดโอกาสที่วงจรนี้จะรับคลื่นความถี่สูงขยะ (RF) ในอากาศ หรือจากระบบไฟรถ เข้ามาป่วนภาคขยาย, ภาคเล่น CD, ภาครับวิทยุ อีกทั้งไม่มีแผงวงจรนี้ที่จะถูกลำโพงเขย่าสั่น, รถเขย่าให้สั่นอันบั่นทอนคุณภาพเสียง, มิติเสียง (เวทีเสียงถอยจมติดจอ) เมื่อไม่มีวงจรแบ่งเสียงมาคั่น ภาคขยายก็ไม่ต้องสูญเสียกำลังไปกับวงจร (บ่อยๆ ที่จะทำให้เสียงค่อยลงถึง 3dB ขึ้นไป หมายความว่า กินกำลังเป็นเท่าตัว) เรียกว่า ความดังต่างกันเป็นเท่าตัวเป็นอย่างน้อย ระหว่าง ลำโพงที่มีแผงวงจรแบ่งเสียง กับต่อตรงเข้าดอกลำโพงเลย ตรงนี้น่าคิดที่สุด ปัจจุบัน วิทยุ-CD ไฮเพาเวอร์ เกือบทั้งหมดจะให้ภาคขยายขนาด 50W x 4CH มาด้วย ซึ่งถ้าติดตั้งอย่างเป็นงาน (ระดับเทพ) ติดลำโพงคู่เดียวที่ประตูหน้า (กรณีรถกระบะ) ก็สามารถให้เสียงได้อย่างอิ่มอกอิ่มใจโดยไม่ต้องง้อเพาเวอร์แอมป์ภายนอก นอกจากจะเปิดกันแบบลั่นสนั่นรถ, สนั่นซอย ก็ต้องเพิ่มเพาเวอร์แอมป์แน่ ยิ่งกับรถเก๋ง ติดลำโพงที่แผงหลัง ตีแผงหลังเต็มสูตร (ทำเบ้าเอียงลำโพงมาหน้ารถ ตีเต็มปิดหลังเบาะหลัง) แค่คู่เดียวก็อัดได้ลั่นกระหึ่มรถจนเบาะสะเทือนแล้ว (เบาะหน้า) นั่นเป็นกรณีใช้ลำโพงแยกชิ้น 2 ทางหรือลำโพงรวมชิ้น (Coaxial) 2 ทาง ที่ความไวเฉลี่ย 89-92dB คราวนี้ ลองหลับตาจินตนาการว่า ถ้าเราใช้ดอกเดียว Full Range มหัศจรรย์ของ Bostwick ใหม่ ซึ่งไม่ต้องมีวงจรแบ่งเสียงมาบั่นทอนกำลัง ไม่มีดอกแหลมมาแย่งกำลังขับ... จะเกิดอะไรขึ้น ประเมินคร่าวๆ ลำโพงจะมีความไวถึง 93-96dB SPL/W/m นั่นหมายความว่า คุณสามารถอัดได้ดังสนั่นรถ ดุจเพิ่มเพาเวอร์แอมป์ 75 - 100 W.RMS ต่อข้างทีเดียว แน่นอน สำหรับผู้บริโภคทั่วไป มันดัง, อิ่ม, แน่น เกินพอ โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มซับ, เพิ่มเพาเวอร์แอมป์, เพิ่มปรี EQ, ซื้อสายไฟเพิ่ม, เสียค่าสายสัญญาณเสียงอีกหลายช่วง ช่วยให้พวกเขาประหยัดขึ้นได้มหาศาลขนาดไหน ต่อไปเราสามารถจัดชุดเครื่องเสียงดีๆ ลงรถได้ในงบไม่เกิน 10,000 บาท (วิทยุ-CD/USB + ลำโพง Full Range 1 คู่) ไม่รวมอุปกรณ์ติดตั้ง โดยชุดนี้ “อัด” ได้ลั่น มหึมา สนั่นรถด้วย นั่นหมายความว่า ตลาดปรี EQ, ซับ, เพาเวอร์แอมป์, สาย จะต้องหดตัวลงอย่างช่วยไม่ได้ ขณะเดียวกัน จะยิ่งฟ้องฝีมือ, วัดฝีมือ การติดตั้งของร้านติดตั้งอย่างถึงกึ๋นส์ เพราะชุดยิ่งง่าย ยิ่งลัดตรง ยิ่งบริสุทธิ์ ยิ่งขี้ฟ้อง ใครดีใครอยู่ล่ะคราวนี้ ในทำนองเดียวกัน ชุดมันง่ายมากๆ จนชาวบ้านทั่วไปก็แทบจะติดตั้งเองได้เลย ร้านติดตั้งที่สุกเอาเผากิน จะอยู่ยากเพราะติดออกมาไม่ได้ดีกว่าลูกค้าติดเอง ใครเขาจะมาใช้บริการ แน่นอน สิ่งนี้ย่อมลามไปถึงเครื่องเสียงบ้าน ต่อไปเราคงได้ฟังลำโพงบ้านเสียงดีๆ ในราคาถูกกว่าปัจจุบันไม่ต่ำกว่าครึ่ง เพาเวอร์แอมป์วัตต์สูงคงขายยาก เพราะลำโพงกินวัตต์น้อยลงมาก ไม่มีความจำเป็นต้องเล่นแอมป์วัตต์สูงโดยเฉพาะ พวก AV แอมป์เซอร์ราวด์ แค่รุ่นเล็กสุด ก็เปิดได้ดังสนั่นห้องแล้ว พวกชุดเซอราวด์ประเภทม้วนเดียวจบหรือ THEATRE IN THE BOX หรือ ชุดมินิคอมโปทั้ง 5.1, 7.1, 2.1 ก็จะได้อานิสงฆ์นี้ด้วย สุดท้าย นี่คือการพลิกโฉมประวัติศาสตร์ของวงการลำโพง ทั้งในแง่ตัวผลิตภัณฑ์ทำเอง และในเชิงธุรกิจ หลายอย่างจะต้องเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน โอเค ระบบลำโพงแบบ 2 ทางที่สุดยอด ยังไงๆ ก็ยังได้เปรียบระบบลำโพง Full Range ถ้าจะเอาคุณภาพสุดยอดจริงๆ (ซึ่งราคาก็สุดยอดด้วย) ในความเห็นของผม ต่อไประบบลำโพงทั้งบ้านและรถอาจแยกเป็น 2 แนวทางคือ 1. เล่นแบบ Full Range ไร้วงจรดังกล่าวแล้ว 2. เล่นแบบ Full Range + ดอกแหลม Super Tweeter เนื่องจากดอก Full Range ไม่มีทางให้เสียงสูงได้ถึง 32kHz ขึ้นไปอย่างแน่นอน หมายเหตุ ผมงงจริงๆ ท้ายสุด ทาง HIFI INTER เอเย่นต์ Bostwick ไม่ได้สั่งลำโพง Full Range 6 นิ้ว ตัวดีนั้นมาขาย ? ถ้าจะให้ผมเดาใจของผู้บริหาร HIFI INTER ก็น่าจะเป็นเพราะความไม่แน่ใจว่าจะขายได้ มันเป็นอะไรที่ “แหก” ธรรมเนียมประเพณีมากไปหรือเปล่า ขายลำโพงรถโดยไม่มีตั้งกล่องวงจรแบ่งเสียง และดอกแหลม มันจะเรียกค่าตัวได้สักเท่าไรกัน เปอร์เซนต์กำไรอาจเท่าเดิม แต่ฐานยอดขายจะลดลงฮวบฮาบเลย ผลคือ กำไรโดยรวมจะลดลง (สมมุติกำไร 20% จากยอดขาย 300,000 บาท กับกำไร 20% จากยอดขาย 900,000 บาท เป็นใครก็คงเลือกอย่างหลัง เพื่อความอยู่รอด มันเป็นอะไรที่เข้าใจได้ไม่ยาก) แต่พ่อค้าก็ลืมคิดไปว่า ขายลำโพง Full Range ดีๆ คู่ละ 2,000 บาท ย่อมขายได้เป็นจำนวนมากกว่าขายลำโพง แยกชิ้น 2 ทางคู่ละ 4,000 บาท ยอดขาย Full Range (ที่เสียงดีกว่าด้วย) ย่อมถล่มทะลายกว่ามาก สุดท้าย ผลกำไรรวมมีสิทธิ์มากกว่าด้วย แถมได้สร้างความฮือฮา เป็น Talk of the town สร้างประวัติศาสตร์ไปเลย เหตุผลเดียวกันนี้ ใช้ได้กับร้านติดตั้งเช่นกัน จากการขายปลีก เดือนหนึ่งอาจจะ 10 คู่ ไม่ใช่ 3,000 คู่อย่างผู้นำเข้า ต่อให้กำไร Full Range คู่ละ 1,000 บาท (ต้นทุน 1,000 บาท/คู่) 10 คู่ก็ได้เงินมาแค่ 10,000 บาท ขณะที่ขายลำโพงแยกชิ้น 2 ทางคู่ละ 6,000 บาท กำไร 50% คือ 3,000 บาท เดือนหนึ่งก็ 30,000 บาท แน่นอน ใครจะเอากำไร 10,000 บาท ขณะที่มีสิทธิ์กำไรได้ถึง 30,000 บาท แถมขายแยกชิ้น 2 ทาง ขายง่ายกว่าด้วย ยิ่งถ้ารับดัดแปลงวงจรแบ่งเสียงก็อาจได้กำไรเพิ่มอีก 500-1000 บาทต่อคู่ ยิ่งถ้ายุให้ติดดอกแหลมแยกสูงที่เสา ก็คิดค่าปั้นแผงดอกแหลมที่เสาได้อีก สุดท้ายคู่นั้นขายได้ถึง 9,000 บาท กำไรรวมติดตั้งอาจทะลุไปถึง 5,000 บาท คุณจะเอา 10,000 บาท/เดือน หรือ 50,000 บาท/เดือน คงไม่ต้องบอกนะว่า คำตอบคืออะไร ด้วยเหตุผลทางการค้า การอยู่รอด ก็คงเดาได้ว่า ลำโพง Full Range (ดีๆ) เกิดยาก ต่อให้คุณทำ Super Full Range ได้ 30Hz-22kHz ก็หนีปัญหาทางธุรกิจนี้ไปไม่พ้น ตลาดของ Full Range จึงมีทางออกเดียวคือ การขายตรงให้ลูกค้า รวมทั้งขายทางเว็บไซต์ ไร้การติดตั้ง ผู้นำเข้าจะต้องติดรถโชว์ให้ฟังออกได้จริงว่า มันวิเศษกว่าปกติอย่างไร ถ้าทำได้จริง เกมส์ก็เปลี่ยน ร้านติดตั้งจะอยู่ยากขึ้น คู่แข่งที่ยังยึดติดกับลำโพงแยกชิ้นจะเหนื่อย ยอดขายจะหดตัววูบลง จะขายได้กับหูที่พิถีพิถันมากๆ และติดตั้งได้ระดับเทพเท่านั้น (จะมีสักกี่ร้านทำได้) เสน่ห์บางอย่างของ Full Range จะกวาดแยกชิ้นตกเวทีกันจ้าละหวั่น บางที มันเป็นเรื่องของธุรกิจ มากกว่าความจริงแห่งคุณภาพ และผลประโยชน์ของผู้บริโภคถูกจัดไว้อันดับหลังสุด www.maitreeav.com |